ก็เลยว่าจะเอามาแปะๆ ไว้ลงบล็อก
เผื่อจะมีประโยชน์ต่ออะไรก็ตามที่เป็นไปได้
In the City of Sylvia เป็นผลงานของผู้กำกับชาวสเปนค่ะ
เป็นภาพยนตร์ที่มีเนื้อเรื่องเรียบง่าย (มาก)
แต่ก็โดดเด่นที่งานภาพแหละเนาะ
เราว่ามันไม่ค่อย mass ทำให้เราดูไม่สนุก 55555555
ขอก็อปแปะเป็นพืดแม่มเลยละกัน
สรุปย่อเผื่อขี้เกียจอ่าน
สำหรับการตัดสินใจว่าจะดูดีมั้ย?
- ดื่มด่ำไปกับบรรยากาศอันสวยงามของเมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส
- นางเอกสวย พระเอกใช้ได้
- พระเอกมาตามหา Sylvia หญิงสาวที่เคยพบเมื่อหกปีก่อน
- แต่การตามหานั้นไม่ได้มีอะไรมาก
- อาจเต็มไปด้วยสัญญะให้ตีความ
- ราบเรียบ เหมือนวิ่งรถเก๋งนิ่มๆ ไปตามถนนราดยาง
- แทบไม่สะดุดเลยจนจบ
- ไม่มีปัญหาเรื่องกำแพงภาษา เพราะมีไดอะล็อกไม่กี่ฉาก
ส่วนนี่เป็นความเห็นส่วนตัว
- แทบหลับแหนะ !!
- ตีความไม่ค่อยออกหรอก แต่ละคนได้ไม่เหมือนกันบ้าง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
In the city of Sylvia
ผลงานของผู้กำกับสัญชาติสเปน José Luis Guerín ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก ด้วยตัวเนื้อเรื่องไม่มีความซับซ้อน แต่โดดเด่นด้วยการสื่อความหมายผ่านภาพ ถ่ายทอดความสวยงามของเมือง Strasbourg ประเทศฝรั่งเศส ดินแดนแห่งความโรแมนติค
ภาพยนตร์ใช้สีโทนร้อน สีเหลือง ให้ความรู้สึกอบอุ่น สดใส และสื่อถึงฤดูร้อน เข้ากับเสื้อผ้าที่ตัวละครในเรื่องสวมใส่ เนื้อเรื่องดำเนินไปอย่างไม่หวือหวา แทบไม่มีมิติของอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ใช้บทสนทนาเพียงน้อยนิดเท่านั้น การที่ภาพยนตร์แทบไม่มีบทพูดหรือตัวอักษรปรากฎให้เห็น นั่นทำให้ผู้ชมจับจ้องไปที่ “ภาพ” ที่ผู้กำกับละเมียดละไมจัดองค์ประกอบไว้ โดยหลายฉากเป็นการแช่กล้องนิ่งๆ ไว้ยังสถานที่ใดสถานที่หนึ่งด้วยระยะภาพแบบ Establishing Shot เพื่อจับการกระทำของผู้คนที่ใช้ชีวิตเดินผ่านไปผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง ทั้งย่านที่พักอาศัย ย่านการค้า นอกจากภาพแล้ว ความสวยงามยังถูกถ่ายทอดผ่านดนตรีเครื่องสาย ให้ความรู้สึกละมุนละไม กลมกล่อมในความรัก เช่น ฉากไวโอลินในร้านกาแฟ
เรื่องราวดำเนินไปกับชายหนุ่มไร้ชื่อ ภาพยนตร์ตอกย้ำความเป็นคนแปลกหน้าของเขาด้วยการไม่ตั้งชื่อให้ เราแทบไม่รู้ภูมิหลังใดๆ ของเขา รู้เพียงแต่เขามาตามหาหญิงสาวคนหนึ่งชื่อ Sylvia เท่านั้น ในฉากเปิด มีกุญแจแปะเบอร์ห้องและแผนที่วางอยู่ในห้อง แสดงถึงความเป็นคนต่างแดนของชายคนนี้
ฉากถัดไปถ่ายทำที่ร้านกาแฟ พื้นที่นั่งดื่มกาแฟเป็นแบบ Outdoor ผู้คนนั่งอยู่เต็มร้าน ชายหนุ่มนั่งมองผู้คนรอบตัว มีการใช้กล้องแทนสายตาคนดู ส่วนมากเป็นผู้หญิง สวมเสื้อสายเดี่ยว มีผู้ชายปะปนมา ดูท่าจะเป็นสามีหรือแฟนหนุ่ม บางคู่คุยกันหัวร่อต่อกระซิก ในขณะที่บางคู่แลดูมึนตึงใส่กันเหมือนกับเพิ่งทะเลาะกัน ฉากนี้น่าจะต้องการถ่ายทอดภาพที่เหมือนจริง บรรยากาศของร้านกาแฟจริงๆ การใส่คู่รักที่ดูเหมือนทะเลาะกันมาทำให้ภาพเหตุการณ์ดู Real มากขึ้น ความไม่สมบูรณ์แบบของความรัก แต่กระนั้นพระเอกก็ยังยืนยันที่จะตามหามันอยู่ดี
พระเอกเริ่มหยิบสมุดขึ้นมา เขียนว่า “In the city of Sylvia” ซึ่งเป็นชื่อของภาพยนตร์ ทำให้ผู้ชมเริ่มเข้าใจว่า Sylvia มีความเกี่ยวข้องกับตัวพระเอก และน่าจะเป็นผู้หญิงที่ทำให้พระเอกต้องเดินทางมาที่นี่ เขาใช้ดินสอสเกตช์ภาพที่มองเห็นอยู่รอบตัว เป็นภาพหญิงสาวที่มีอิริยาบทต่างๆ ดู สวยงาม และ มีเสน่ห์ ผ่านการถ่ายทอด gesture ของตัวนักแสดง และองค์ประกอบภาพต่างๆ พระเอกหยุดจ้องมองหญิงสาวหลายคน ทำให้ผู้ชมอาจคาดเดาไปต่างๆ นานาใคร ใครคือ Sylvia กันแน่ และจากนั้น เขาก็พบเห็นหญิงสาวในร้านกาแฟ สวมเสื้อสายเดี่ยวสีแดง ทันทีที่เธอลุกออกไปจากร้าน พระเอกก็เริ่มต้นติดตามเธอทันที และทำให้ผู้ชมรับรู้ไปพร้อมกันว่า เธอคือ Sylvia โดยไม่ต้องใช้คำพูดอะไรในการเล่าเลย
พระเอกเดินตามเธออยู่นาน ฉากนี้ได้เห็นสภาพย่านการค้าในเมือง ทั้งผู้คนที่เดินผ่านไปมา คำพูดที่เขียนอยู่บนกำแพง ร้านรวงต่างๆ คนขายของที่ระลึกที่เดินขายของมาถึงย่านการค้า คนเร่ร่อนที่นั่งดื่มอยู่บนฟุตบาธ หญิงสาวคลาดสายตาจากพระเอกเป็นระยะ แต่เขาก็ยังยืนกรานที่จะติดตามและมองหาอยู่เช่นนั้น ราวกับหลงใหลต้องมนต์ในอะไรสักอย่างมากทีเดียว และทำให้ผู้ชมรู้สึกแน่ใจว่าเธอคือ Sylvia ไม่ผิดแน่นอน
การ “เดินตาม” ของพระเอกสิ้นสุดลงที่รถราง เมื่อพระเอกได้ตามคนที่เขาเชื่อว่าเป็น Sylvia ขึ้นรถรางด้วย บทสนทนาในภาพยนตร์จึงเกิดขึ้นภายในฉากนี้ โดยพระเอกได้ให้รายละเอียดในช่วงนี้ว่า เขากำลังตามหา Sylvia ที่เคยพบเมื่อหกปีก่อน และเขาเชื่อว่า Sylvia คือเธอ แต่ผู้หญิงคนนั้นกลับปฏิเสธ และบอกว่าไม่ชอบให้ใครเดินตาม ฉากนี้ทำให้ผู้ชมเกิดความสับสนเช่นเดียวกับพระเอก และในขณะเดียวกันก็ตระหนักได้ถึงพฤติกรรมอันผิดธรรมชาติของพระเอกไปด้วยเช่นกัน ในฉากนี้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกว่าความรักนั้นน่าหลงใหล มากเสียจนพาให้พระเอกหลงทางมายังต่างแดนเพื่อค้นหามัน
ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้ตอบคำถามว่า พระเอกติดตามผู้หญิงถูกคนหรือไม่ พระเอกได้เจอกับ Sylvia ของเขาหรือไม่ ในด้านเนื้อหา ภาพยนตร์ไม่ได้ให้อะไรมากไปกว่าผู้ชายคนหนึ่งที่ดูเหมือนจะต้องมนต์รักจากผู้หญิงในเมืองแห่งความรักแบบนี้ แต่ให้ความบันเทิงในด้านรูปแบบ ทั้งองค์ประกอบภาพที่สวยงาม สภาพบ้านเมืองที่มีทั้งจุดดีและจุดด้อย (เพียงแต่ถ่ายทอดจุดด้อยเล็กน้อย เช่น คนขายของนักท่องเที่ยว คนเร่ร่อน) สภาพสังคม ความสัมพันธ์ของผู้คน ความงามของหญิงสาว เพลงประกอบ ทำให้ภาพยนตร์ได้ทำหน้าที่ให้ความเพลิดเพลิน ราวกับพาผู้ชมไปดูงานศิลปะ
ภาพยนตร์เรื่องนี้มี “ผู้ชาย” เป็นแก่นหลักของเรื่อง และมี “ผู้หญิง” เป็นองค์ประกอบผ่านไปผ่านมาจำนวนมาก ชายคนนี้เสพย์ความงามจากผู้หญิงไปเรื่อย ในขณะที่เขารอคอยที่จะพบกับ Sylvia อาจมองได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ เล่าเรื่อง ผ่านสายตาของผู้ชาย ที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ มองเพื่อเสพย์ความงาม แต่อีกนัยหนึ่งอาจมองว่าผู้หญิงคือความสวยงามของโลกใบนี้ก็ได้
In the city of Sylvia เป็นภาพยนตร์ที่บรรจุ “ศิลปะ” เอาไว้อย่างเนืองแน่น ขัดเกลาผ่านงานภาพ เสียง องค์ประกอบต่างๆ ในฉาก ถ่ายทอดความงดงามของบ้านเมือง หญิงสาว และความหลงใหลในรักของพระเอกได้อย่างกลมกล่อม เต็มไปด้วยช่องว่างให้จินตนาการ เนื่องจากภาพยนตร์ไม่ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดในประเด็นต่างๆ ทั้งคำตอบของแก่นเรื่องหลัก ทั้งตัวตนที่แท้จริงของตัวละครแต่ละตัวก็ไม่ได้ถูกเปิดเผย ความรู้สึกห่างเหินทำให้เราต้องจินตนาการมากขึ้น และตีความผ่านบุคลิกท่าทาง การกระทำ การแต่งตัวแทน อีกทั้งการใช้บทสนทนาเพียงน้อยนิดนั้น ขับให้งาน “ภาพ” โดดเด่นขึ้นมาอีกมากทีเดียว
ที่มาข้อมูลเบื้องต้นของภาพยนตร์ : http://www.imdb.com/title/tt0809425/
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น